Lifestyle
แย่จัง โดนใบสั่งจราจรซะแล้ว มาดูวิธีจ่ายค่าปรับแบบไม่ต้องไปถึงสน.กัน

แย่จัง โดนใบสั่งจราจรซะแล้ว มาดูวิธีจ่ายค่าปรับแบบไม่ต้องไปถึงสน.กัน

สำหรับเรื่องการขับรถหรือจอดรถ บางทีเราก็มีการเผลอทำผิดพลาดจนได้รับใบสั่งกันบ้าง ซึ่งถ้าจะมองกันในแง่บวก โดนใบสั่งก็ยังถือว่าเบากว่าการขับรถไปเฉี่ยวชนใคร เพราะนั่นหมายถึงว่าเราคงต้องเรียกประกันรถยนต์มาเคลม หลายคนเมื่อได้รับใบสั่งก็ไม่ค่อยจะไปเสียค่าปรับกัน เพราะบางทีไม่สะดวกที่จะไปสน. ดังนั้นครั้งนี้เราจึงมีข้อมูลดี ๆ มาอัปเดตให้ได้ทราบกัน

ใบสั่งจราจรแบบใหม่ปี 63 เริ่มใช้แล้วนะรู้หรือยัง

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 25 สิงหาคม 63 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศแจ้งเรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ซึ่งก็คือประกาศรูปแบบใบสั่งจราจรแบบใหม่นั่นเอง ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 63 เป็นต้นไป สำหรับรายละเอียดคร่าว ๆ ของใบสั่งแบบใหม่นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้

  • ใบสั่งที่จะแสดงไว้ที่รถ: ก็คือใบสั่งที่เราจะได้รับตรงนั้นเลย แบบใหม่นี้จะเป็นชุด ชุดละ 4 แผ่น ซึ่งจะมี 4 สี แยกตามวัตถุประสงค์ออกไป
  • ใบสั่งส่งทางไปรษณีย์: แบบนี้ทางตำรวจจะส่งมาให้ทางไปรษณีย์ จะมีชุดละ 2 แผ่น เป็นใบสั่งตัวจริง 1 แผ่นและสำเนา 1 แผ่น

อย่าเชื่อเรื่องไม่เสียค่าปรับใบสั่งแล้วต่อภาษีรถไม่ได้

มีข่าวออกมาเสมอว่า ถ้าถูกใบสั่งแล้วไม่ไปเสียค่าปรับจะไม่สามารถไปต่อภาษีรถหรือต่อพรบ.ประกันรถยนต์ภาคบังคับได้ ซึ่งตรงนี้ขอย้ำเลยว่าไม่เป็นความจริง แม้จะยังไม่ได้เสียค่าปรับในใบสั่งจราจร กรมการขนส่งทางบกก็ยังอนุญาตให้ต่อภาษีรถได้อยู่ แต่ทางขนส่งเขาจะออกเอกสารเป็นป้ายสัญลักษณ์ใช้ได้ 30 วันเพื่อบ่งบอกว่าเรายังไม่ได้จ่ายค่าปรับแจ้งเอาไว้ และจะระบุว่าเรามาเสียภาษีก่อนเสียค่าปรับ

ซึ่งทางกรมการขนส่งทางบกจะให้เวลาเราไปชำระค่าปรับใบสั่งให้เรียบร้อย แล้วค่อยมาเคลียร์เอกสารกันอีกครั้ง และหากใครยังไม่ไปจ่าย คราวนี้ก็จะถูกอายัดทะเบียน

อัตราเกณฑ์ค่าปรับจราจรที่ควรรู้

สำหรับเกณฑ์อัตราค่าปรับจราจรอัปเดตใหม่ในปี 63 นั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งอัตราล่าสุดมีดังนี้

  • ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด: ปรับตั้งแต่ 400 – 500 บาท
  • ขับรถฝ่าไฟแดง: ปรับ 500 บาท
  • ฝ่าฝืนเครื่องหมายและสัญญาณจราจร: ปรับไม่เกิน1,000 บาท
  • นำรถเก่าที่ผุพังหรือสุ่มเสี่ยงให้เกิดอันตรายมาใช้: ปรับ 500 บาท
  • นำรถไม่ติดป้ายทะเบียนมาใช้: ปรับไม่เกิน 500 บาท
  • ขับรถที่มีการปรับแต่งให้เสียงดัง:ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

นี่เป็นเพียงรายละเอียดบางส่วนของอัตราค่าปรับที่มีการปรับใหม่ในปีนี้

ช่องทางชำระค่าปรับ แบบไม่ต้องไปถึงสน.

สำหรับใครที่ไม่สะดวกในการไปชำระเงินค่าปรับที่สถานีตำรวจ ใบสั่งรูปแบบใหม่ก็ระบุช่องทางการชำระเงินแบบอื่น ๆ ไว้ด้วย โดยการเพิ่มช่องทางการชำระแบบอื่นนี้ เป็นการเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งมีช่องทางดังนี้

  • ไปรษณีย์ทุกแห่ง
  • เคาน์เตอร์บริการธนาคารกรุงไทย
  • ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย
  • แอปพลิเคชันกรุงไทย NEXT (ชำระค่าปรับออนไลน์)
  • หน่วยบริการรับชำระเงินที่มีสัญลักษณ์ PTM เช่น CenPay ของเครือ CENTRAL Group และตู้บุญเติม

หากว่าใครสะดวกไปสน. ก็ไปจ่ายที่สน.โดยตรงก็ได้ แต่ถ้าใครต้องการง่ายกว่าชำระผ่านทางออนไลน์หรือช่องทางอื่นที่สะดวกได้เลย สิ่งสำคัญก็คือถ้าถูกใบสั่งก็ควรจะต้องจ่ายให้เรียบร้อย

และถ้าเป็นไปได้ก็ขับขี่หรือจอดรถอย่างระวังไม่ให้โดนใบสั่งจะดีที่สุด เพราะการมีรถนั้นก็มีค่าใช้จ่ายเยอะอยู่แล้ว ทั้งค่าประกัน รถยนต์ ค่าซ่อมบำรุง หากเป็นไปได้ก็ควรขับขี่อย่างมีวินัยปฏิบัติตามกฎจราจรเสมอ จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าปรับเพิ่มเข้าไปอีกนั่นเอง